ข้ามไปเนื้อหา

นางสุพรรณมัจฉา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สุพรรณมัจฉา)
สุพรรณมัจฉา
ตัวละครใน รามเกียรติ์
เผ่าพันธุ์ปลา
ครอบครัวทศกัณฐ์ (บิดา)
นางปลา (มารดา)
อินทรชิต (พี่น้องร่วมบิดา)
นางสีดา (พี่น้องร่วมบิดา)
ไพนาสุริยวงศ์ (พี่น้องร่วมบิดา)
สหัสกุมาร (พี่น้องร่วมบิดา)
สิบรถ (พี่น้องร่วมบิดา)
ทศคีรีวัน ทศคีรีธร (พี่น้องร่วมบิดา)
คู่สมรสหนุมาน
บุตรมัจฉานุ

นางสุพรรณมัจฉา (ความหมาย: "ปลาทอง") เป็นตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ อันเป็นธิดาของทศกัณฑ์ ที่ต่อมาได้ตกเป็นภรรยาคนหนึ่งของหนุมาน[1] ทหารเอกของพระราม อันเป็นตัวเอกของวรรณคดีเรื่องดังกล่าว

นางปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อครั้งที่พระรามให้หนุมานถมมหาสมุทรข้ามไปยังกรุงลงกา ทศกัณฑ์จึงให้นางสุพรรณมัจฉาและบริวารที่เป็นปลาลอบขนหินถมทะเลดังกล่าวไปทิ้ง หนุมานสงสัยจึงดำลงไปใต้ท้องทะเลจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ภายหลังทั้งสองได้ร่วมรักกันและมีบุตรคือ มัจฉานุ ที่ตัวเป็นลิงมีหางเป็นปลา

เช่นเดียวกับนางสีดา ที่มีบิดาเป็นยักษ์ แต่ก็มีรูปโฉมที่สวยงาม แม้นางสุพรรณมัจฉาจะเป็นตัวละครที่มีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็เป็นที่กล่าวขานถึงรูปลักษณ์ที่งดงามที่ปรากฏตามจิตรกรรมฝาผนัง จนเป็นหนึ่งในนางในวรรณคดีที่มีชื่อเสียงนางหนึ่ง[2][3] ทั้งนี้นางสุพรรณมัจฉาปรากฏอยู่ในรามายณะของภูมิภาคอุษาคเนย์บางประเทศเท่านั้น[4]

ประวัติ[แก้]

นางสุพรรณมัจฉา เป็นธิดาของทศกัณฑ์ กับนางปลา[5][6][7] ซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานแต่ทศกัณฑ์ได้แปลงกายเป็นปลาลงไปสมสู่จนกำเนิดธิดาขึ้นมา[8] แม้ทศกัณฑ์จะเป็นยักษ์ แต่ในวรรณคดีอนุโลมให้ทศกัณฑ์เป็นมนุษย์[9] ด้วยเหตุนี้ในงานจิตรกรรมฝาผนังเธอจึงมีรูปลักษณ์ที่ท่อนบนเป็นมนุษย์ส่วนท่อนล่างเป็นปลา[5] คือกลายเป็น นางเงือก[9] กระนั้นนางสุพรรณมัจฉาก็มีรูปโฉมที่งดงาม มีผิวกายผ่องพรรณเป็นสีทอง ดังปรากฏความว่า[7]

แสดงรูปนาเรศ สุพรรณมัจ ฉาเฮย
ผิวเทียมทองอุบัติ ผ่องพ้น
ธิดาทศเศียรกษัตริย์ มาตุเรศปลาแฮ
ที่ลักคาบศิลาล้น สมุทรครั้งถมถนน

ด้วยเหตุนี้นางสุพรรณมัจฉาจึงเป็นพี่น้องร่วมบิดากับนางสีดา[8] แต่ด้วยความที่นางสุพรรณมัจฉามีท่อนล่างเป็นปลา จึงอาศัยอยู่เพียงแต่ในน้ำในมหาสมุทร มิอาจอยู่ในเวียงวังดังบุตรคนอื่น[2]

ความสัมพันธ์กับหนุมาน[แก้]

การสังวาสของหนุมานและสุพรรณมัจฉา

ครั้นเมื่อพระราม ได้มอบหมายให้หนุมานและนิลพัทพาพลวานรไปถมมหาสมุทรเพื่อทำถนนไปสู่กรุงลงกา เมื่อทศกัณฑ์ล่วงรู้เข้าจึงสั่งให้สุพรรณมัจฉาและบริวารคือฝูงปลาคาบก้อนหินของฝ่ายพระรามไปทิ้งเสีย ทำให้การถมถนนไม่เป็นผลสำเร็จ[2] หนุมานจึงเกิดความสงสัย จึงดำลงไปใต้น้ำพบนางสุพรรณมัจฉาและฝูงปลากำลังคาบก้อนหินไปทิ้ง หนุมานโกรธแค้นมากจึงชักตรีออกไปฆ่านางสุพรรณมัจฉา แต่ท้ายที่สุดหนุมานก็เปลี่ยนทัศนคติแปรเป็นความรักต่อนาง[7] หนุมานจึงเกี้ยวพาราสีและร่วมสังวาสกัน[6] ดังปรากฏความว่า[7]

เมื่อนั้น นวลนางสุพรรณมัจฉา
ได้ร่วมรสรักภิรมยา กับวายุบุตรวุฒิไกร
อิบแอบแนบชิดพิศวง งวยงงด้วยความพิศมัย
แสนรักแสนสวาทจะขาดใจ อรทัยลืมกลัวพระบิดา
ลืมเล่นในท้องชลธาร ลืมฝูงบริวารมัจฉา
ลืมอายลืมองค์กัลยา เสน่หาเพิ่มพ้นพันทวี

หลังสิ้นการสังวาส นางสุพรรณมัจฉาก็เลิกก่อกวนการสร้างถนน แต่ก็ทำสำเร็จเปราะหนึ่งเพราะหนุมานก็ต้องเสียเวลามาร่วมเพศกับนางระยะหนึ่ง[6] ต่อมานางสุพรรณมัจฉาได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชื่อ มัจฉานุ[9][10][11] ที่เป็นลิงแต่มีหางเป็นปลา นางสุพรรณมัจฉาเกรงว่าทศกัณฑ์ผู้บิดาจะล่วงรู้ว่านางได้เสียกับหนุมานแล้ว จึงนำบุตรมาทิ้งไว้ที่ชายหาด ที่ต่อมาไมยราพณ์ได้นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม[7]

ทางศาสนา[แก้]

ในอดีตเมื่อถึงช่วงเวลาทอดกฐินจะมีการประดับธง คือ "ธงจระเข้" คู่กับ "ธงนางมัจฉา" เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องเอาธงนี้ไปปักหน้าวัด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนก็จะยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย ด้วยเหตุนี้ธงจระเข้และนางมัจฉาจึงเป็นเครื่องหมายการกฐินที่จำเป็นสมัยก่อน เพราะเวลาแห่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นแห่กฐิน ผิดกว่างานบุญอื่น ๆ[12]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหนุมานและนางสุพรรณมัจฉาถูกนำไปสร้างเป็นเพลง สุวรรณมัจฉา ขับร้องโดยบุหลัน คชรมย์ ถูกเผยแพร่เป็นดิจิตอลดาวน์โหลดซิงเกิลเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560

อ้างอิง[แก้]

  1. S.N. Desai (2005). Hinduism in Thai Life. Popular Prakashan. p. 135. ISBN 978-81-7154-189-8. สืบค้นเมื่อ 2012-07-24.
  2. 2.0 2.1 2.2 "ประวัตินางในวรรณคดี หญิงงามในบทประพันธ์". สนุกดอตคอม. 5 เมษายน 2556. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "โรงละครอักษรา". Room. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. Satyavrat Sastri (2006). Discovery of Sanskrit Treasures: Epics and Puranas. Yash Publications. p. 77. ISBN 978-81-89537-04-3. สืบค้นเมื่อ 2012-07-24.
  5. 5.0 5.1 "นางสำมนักขา, สุพรรณมัจฉา, นางเบญกาย, นางมณโฑ, สดายุ". SiamNT ฝีมือไทย ภูมิปัญญาไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-17. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 ชานันท์ ยอดหงษ์. "รามเกียรติ์ : sex, ผู้หญิง, รัฐ และ อุษาคเนย์". The Southeast Asian Consortium on Gender, Sexual and Health. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "สุพรรณมัจฉา (รามเกียรติ์)". My First Brain. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "ทศกัณฑ์ (รามเกียรติ์)". My First Brain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา (26 กุมภาพันธ์ 2557). "ลักษณะประหลาดที่น่าสนใจทางพันธุศาสตร์ของตัวละครในวรรณคดีไทย". สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-18. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "สุพรรณมัจฉา". รามเกียรติ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-10. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "ตัวละครหลักในเรื่องรามเกียรติ์". True ปลูกปัญญา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-03. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ท.เลียงพิบูลย์. "ธง"รูปจระเข้" และ "รูปนางมัจฉา เกี่ยวข้องกับกฐินอย่างไร". วัดป่าเชิงเลน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-01. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]