คู่ทรหด (รายการโทรทัศน์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คู่ทรหด
ประเภทปกิณกะ
บทโดย
กำกับโดย
เสนอโดย
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง
ประเทศแหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภาษาต้นฉบับภาษาไทย
การผลิต
ผู้อำนวยการผลิต
ผู้อำนวยการสร้างวัชระ ปานเอี่ยม
บริษัทผู้ผลิตบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ออกอากาศ
เครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
ออกอากาศ5 มกราคม 2534 (2534-01-05) –
3 มกราคม 2536 (2536-01-03)
การแสดงที่เกี่ยวข้อง

คู่ทรหด เป็นรายการปกิณกะรายการแรกของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเป็นรายการแรกของเวิร์คพอยท์ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2534 และออกอากาศครั้งสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยในปีแรกออกอากาศในวันเสาร์ เวลา 16.40-17.40 น. ปีที่ 2 ย้ายเวลาเป็น 17.30-18.30 น. และเทปสุดท้ายของรายการซึ่งออกอากาศในปี พ.ศ. 2536 ย้ายวันและเวลาเป็น 22.00-23.00 น. ของวันอาทิตย์

ประวัติ[แก้]

ผู้เป็นต้นคิดให้เกิดรายการนี้คือ ปัญญา นิรันดร์กุล ในฐานะหัวหน้าครอบครัวซึ่งมักถูกสื่อมวลชนสัมภาษณ์เรื่องครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งตนก่อตั้งบริษัทขึ้น จึงต้องการทำรายการที่เป็นเรื่องราวของครอบครัวจริง ๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ จึงเกิดเป็นรายการคู่ทรหดขึ้น[1] โดยให้นิยามเปิดรายการว่าเป็น "รายการเพื่อส่งเสริมสถาบันครอบครัว สถาบันแรกที่สำคัญที่สุดของสังคม" เพื่อให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงจากการชมละครพร้อมการสัมภาษณ์ ข้อคิด หรือแนวทางในการดำรงชีวิตคู่ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ รวมถึงจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของการดำเนินชีวิตคู่

รูปแบบรายการ[แก้]

รายการมีลักษณะเป็นทอล์กโชว์ผสมละคร โดยนำเสนอชีวิตคู่สามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยคู่ที่ได้รับเชิญมีทั้งบุคคลในวงการบันเทิง บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการอื่น ๆ และบุคคลจากทางบ้านที่มีเรื่องราวน่าสนใจ เพื่อมาเปิดเผยกันในห้องส่ง สลับกับการชมละครจำลองชีวิตจริง โดยจะเชิญผู้ร่วมรายการมาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นชีวิตคู่เป็นการเกริ่นนำ จากนั้นจะให้ชมละครจำลองรายละเอียดการดำเนินชีวิตคู่ โดยมีนักแสดงแทน ระยะเวลาประมาณ 20 นาที แล้วกลับเข้าห้องส่งเพื่อพูดคุยถึงความรู้สึกจากการชมละคร และสรุปชีวิตการครองเรือน

คู่ร่วมรายการทุกคู่จะได้รับของรางวัลในช่วงท้ายรายการ โดยในปีแรกทางรายการจะมอบเกียรติบัตรให้แต่ละคู่ และยังจะได้รับการคัดเลือกเพื่อชิงตำแหน่ง "แชมป์คู่ทรหดประจำฤดู" โดยแบ่งเป็น ฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว เมื่อสิ้นสุดทุกฤดูจะมีการตัดสินเพื่อชิงตำแหน่ง "สุดยอดคู่ทรหดแห่งปี" มีของรางวัลเป็นบ้านพร้อมที่ดินมูลค่านับล้านบาท (วิธีการคัดเลือกประจำปียังเอามาปรับใช้ในรายการชิงช้าสวรรค์ และ ไมค์ทองคำ 3 ฤดู) แต่ในปีที่ 2 ได้เปลี่ยนของรางวัลเป็นรูปภาพขนาดใหญ่อัดด้วยฟิล์มสีโกดัก ให้กับคู่ร่วมรายการในแต่ละครั้งเท่านั้น ซึ่งใช้กันมาจนเปลี่ยนรายการเป็น ละครแห่งชีวิต

รางวัลสุดยอดคู่ทรหดแห่งปี พ.ศ. 2534

  • ผู้ได้รับรางวัล : ร.อ.สมบัติ บัวจันทร์ (ทหารผ่านศึกขาขาด) และ สาคร บัวจันทร์
    • ผู้เข้าชิง :
  • สมชาย(ส.)-สมใจ อาสนจินดา คู่ทรหดประจำฤดูร้อน
  • โกวิท-วาสนา วัฒนกุล คู่ทรหดประจำฤดูฝน

โลโก้รายการ[แก้]

ตราสัญลักษณ์ประจำรายการ คู่ทรหด ในรูปแบบแรก ถูกออกแบบให้เป็นรูปโล่ คล้ายกับตราสัญลักษณ์ของสถาบันหรือองค์กรทางราชการ ข้างใต้เป็นริบบิ้นประทับชื่อรายการ เหนือโล่ประดับรูปหัวใจ ด้านข้างโล่เป็นสัญลักษณ์แทนสภาพอากาศซึ่งจะเปลี่ยนไปตามฤดู และภายในโล่ถูกแบ่งด้วยส่วนสำคัญต่าง ๆ โดยใช้รูปตัวแทนสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องกับความรักในแต่ละส่วน

  1. มุมซ้ายบน คือ ลูกอึด แทนด้วยครกและไม้ตีพริก แสดงถึงความอดทนที่ทั้งคู่มีให้แก่กัน เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ให้ยืนยาวต่อไป
  2. มุมขวาบน คือ ลูกตื้อ แทนด้วยตัวทาก แสดงถึงการใช้ความพยายามในการจีบหญิงที่ตนชอบ ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีความอดทนมาก
  3. ตรงกลาง คือ ลูกหวาน แทนด้วยหัวใจ แสดงถึงการบอกรัก
  4. มุมซ้ายล่าง คือ ลูกขยัน แทนด้วยหาบ แสดงถึงความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ
  5. มุมขวาล่าง คือ ลูกบ้า แทนด้วยตัวลิเก แสดงถึงการแสดงท่าทางของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง

แต่ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ให้เรียบง่ายขึ้น เหลือริบบิ้นประทับชื่อรายการ กับรูปหัวใจซึ่งประดับไว้เหนือริบบิ้น

พิธีกร[แก้]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • รางวัลเมขลา
    • ประเภทรายการส่งเสริมสังคมไทยดีเด่น ปี 2534
    • ประเภทรายการส่งเสริมสังคมไทยดีเด่น ปี 2535
    • ประเภทผู้ดำเนินรายการดีเด่นหญิง (อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) ปี 2535

เพลงประจำรายการ[แก้]

เพลงประจำรายการคู่ทรหด จะมี 3 เวอร์ชัน

  • เวอร์ชันแรก ใช้ดนตรีจังหวะคึกคัก มีเนื้อร้องเพียงชื่อรายการเท่านั้น ใช้เป็นเพลงเปิดรายการในระยะเริ่มต้น
  • เวอร์ชันที่ 2 เป็นเพลงเปิดรายการในปีแรก ซึ่งมีเนื้อร้องเป็นเรื่องเป็นราว ใช้จังหวะสามช่าเรียกความสนุกสนาน แต่งคำร้องโดย ระวี กังสนารักษ์ และดนตรีโดย สุรชัย บุญแต่ง

"คิงคองไม่เกี่ยวกับส้มตำ แต่ชุดว่ายน้ำคู่กับนางสาวไทย

ปลาทูไม่เกี่ยวกับรถไฟ แต่ดาราไทยคู่กับไมโครโฟน

ฟันปลอมไม่เกี่ยวกับเหล้าขาว แต่ว่าหนวดเคราคู่กับใบมีดโกน

นักมวยไม่เกี่ยวกับกระโถน อยากร้องตะโกนว่าคู่กันได้ไง

- คู่ใคร คู่มัน คู่กันมาแต่ชาติไหน

คู่ฉันล่ะสิมันกว่าใคร จะเป็นจะตายล่ะ คู่ทรหด (ซ้ำท่อน)

...คู่ทรหด"

  • เวอร์ชันที่ 3 ชื่อเพลง "ลมหายใจของกันและกัน" เป็นเพลงที่ใช้ในช่วงท้ายละคร ปิดรายการ และเปิดรายการในปีที่ 2 ดนตรีออกแนวหวานซึ้ง มีเนื้อร้องเพียงสองบรรทัด โดยภายหลังมีการ Cover โดยนักร้องคนอื่น ๆ นำไปร้องบันทึกเสียง ร้องในคอนเสิร์ต หรือร้องในพิธีมงคลสมรส และ/หรือ งานฉลองมงคลสมรสของคู่สามีภรรยาคู่ต่าง ๆ จนกลายเป็นเพลงประกอบการแต่งงานยอดนิยมของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเพลงนี้มีที่มาจากเทปที่ ส.อาสนจินดา และภรรยา มาเป็นแขกรับเชิญ โดยผู้แต่งเพลงคือ ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ ประทับใจจากการฟังคำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งของแขกรับเชิญคู่นี้ว่า "เธอเปรียบเหมือนลมหายใจของเขา หากขาดเธอไปก็เหมือนขาดลมหายใจ" จึงนำคำกล่าวนั้นมาดัดแปลงเป็นบทเพลงประกอบรายการ[2] ร้องโดย ฐิติวุฒิ ไกรทอง

"อาจเป็นเพราะเรา คู่กันมาแต่ชาติไหน

จะรัก รักเธอตลอดไป เป็นลมหายใจของกันและกัน"

อ้างอิง[แก้]

  1. จากบทสัมภาษณ์คุณปัญญา นิรันดร์กุล กับ เวิร์คพอยท์ ในหนังสือพิมพ์อินไซด์ทีวี ฉบับพิเศษ ครบรอบ 6 ปี
  2. http://www.prapas.com/song_detail.php?id=165

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]